เกร็ด 12 นักษัตร (ปีชวด)

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ ปีชวด ถือเป็นปีแรกใน 12 ปีนักษัตรครับ มีสัตว์สัญลักษณ์ คือ หนู


ทางภาคเหนือเรียกปีชวดว่า ปีใจ้ หรือ เปิ้งหนู ในภาษาบาลีและในกฎหมายโบราณนิยมใช้ว่า มุสิก เช่นในกฎหมายตราสามดวง ขึ้นต้นว่า ศุภมัศดุ ๑๑๖๖ มุสิกะสังวัจฉะระมาฆะมาสซึ่งหมายถึงจุลศักราช 1166 ปีชวด เดือน 4
ภาษาเขมรเขียน ชูด แต่อ่านว่า จูด (ซะงั้น)
ในบรรดาสัตว์ทั้ง 12 ชนิด (สัญลักษณ์ของปี 12 นักษัตร) หนูเป็นสัตว์สี่เท้าที่ตัวเล็กที่สุดและคลุกคลีกับมนุษย์มาช้านานแม้เราจะไม่เต็มใจต้อนรับมันนักก็เถอะ มันอาศัยอยู่ในท้องไร่ท้องนาและบ้านเรือน จนถึงกับมีเรื่องบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารหลายแห่ง
เช่น ในสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชปรากฏว่าเมื่อปีฉลู จุลศักราช 1131 (พ.ศ. 2312) บังเกิดหนูมากเข้ากินข้าวในยุ้งฉางสิ่งของทั้งปวงต่างๆ จึงมีรับสั่งให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและราษฎรทั้งหลาย ดักหนูมาส่งแก่กรมพระนครบาลทุกวันๆ หนูก็สงบเสื่อมสูญไป
ในสมัยอยุธยา หนูก็ชุกชุมจนถึงต้องเลี้ยงแมวไว้ที่หอกลอง เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากัดหนังกลองขาด คงไม่ต้องกล่าวถึงหนูตามบ้านเรือนหรอกนะครับว่าจะชุกชุมขนาดไหน เพราะแม้แต่ในตำหนักราชวังก็ยังไม่เว้น
ในพระราชพงศาวดารเล่าว่า เมื่อครั้งรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ครั้งหนึ่งเสด็จอยู่ในพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มุสิกตกลงมา ทรงพระกรุณาเอาขันทองครอบไว้ให้หาพระโหรามาทาย พระโหราคำนวณแล้วทูลว่า สัตว์สี่เท้า ทรงพระกรุณาตรัสว่ากี่ตัว พระโหราขับคำนวณแล้วทูลว่าสี่ตัว ทรงพระกรุณาตรัสว่าสัตว์สี่เท้านั้นถูกอยู่ แต่ที่สี่ตัวนั้นผิดแล้ว ครั้นเปิดขันทองขึ้น เห็นลูกมุสิกคลานอยู่สามตัวกับแม่ตัวหนึ่งเป็นสี่ตัว
ในมัยกรุงธนบุรีก็มีเรื่องปรากฏอยู่ว่า วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า เรื่องหนูกัดผ้าวิสูตรนี้ออกจะถือเป็นอุบาทว์ และก็อุบาทว์จริงๆ เพราะมีเรื่องเล่าต่อไปว่า ฝ่ายในเกิดเป็นชู้กับฝรั่งจึงถูกประหารชีวิตไปตามๆ กัน
เรื่องหนูกัดพระวิสูตรซึ่งว่าเป็นอุบาทว์นั้น คงจะเนื่องมาจากมีตำราหนูกัดผ้ากล่าวไว้ ตำราหนูกัดผ้าจะมีที่มาอย่างไรยังไม่พบข้อมูลครับ แต่เข้าใจว่าจะได้แบบอย่างมาจากพราหมณ์ เพราะในอินเดียเองก็มีผู้ถืออย่างนี้มาแต่โบราณ และเข้าใจว่าทางพระพุทธศาสนาเห็นจะไม่ถือเท่าไร นอกจากเรื่องหนูกัดผ้าอันเป็นการทำลายสิ่งของให้เสียหายแล้วก็ยังมีเรื่องเสียงร้องของหนู ซึ่งมีตำราทำนายเสียงร้องว่าจะดีหรือร้าย สรุปได้ว่าในทางพระพุทธศาสนาไม่ถือเรื่องเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ ฉะนั้น ความเชื่อถือเรื่องหนูกัดผ้า หนูร้อง ก็คงได้แบบอย่างมาจากพราหมณ์อย่างแน่นอน (ซึ่งปัจจุบันคนไทยก็นับถือดะอยู่แล้วทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ทั้งลัทธิจีน)

อย่าเอาไปฟ้องใครนะ อายแมวตัวอื่นเค้า

ในอียิปต์สมัยดึกดำบรรพ์ก็เคยเลี้ยงแมวไว้จับหนู ในชาดกโบราณมีเรื่องเล่าถึงเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งเดิมยากจนแต่ตั้งตัวได้จากซากหนูคือ เก็บหนูตายไปขายให้คนเลี้ยงแมว แล้วเอาเงินนั้นไปประกอบการค้าเล็กๆ น้อยๆ จนเขยิบฐานะขึ้นเป็นพ่อค้าใหญ่ นี่ก็แสดงว่าในอินเดียก็ใช้หนูเป็นอาหารแมว นอกจากแมวจะกินหนูแล้ว ต่อมาหนูตัวโตๆ ที่อยู่ตามท้องไร่ท้องนากลายเป็นอาหารของคนด้วย เช่น พวกเมารีก็จับหนูนากินเป็นอาหาร พวกชาวนาตามชนบทในไทยก็จับหนูนาปรุงอาหาร เพราะเชื่อว่าหนูนาเหล่านี้ไม่สกปรก มันดำรงชีวิตด้วยข้าวเปลือกหรือธัญพืชทั่วไป
วิธีจับหนูนาที่เคยเห็น คือ ตามชนบทจะมีกองฟืนกองใหญ่ๆ พวกหนูจะเข้าไปอาศัยอยู่ในกองฟืน เขาจะเอาเฝือกที่กั้นจับปลามาวางล้อมกองฟืนไว้ แล้วขนเอาฟืนออก หนูจะไม่มีทางหนีไปได้เพราะมีเฝือกกั้นอยู่ ทีนี้ก็เลือกทุบตีเอาได้ตามสบาย เท่าที่เห็นเขาจับได้มีจำนวนตั้งครึ่งปี๊บหรือมากกว่านั้น เขาจะเอามาตัดหัวถลกหนังใส่ไม้คีบย่างเก็บไว้ เขาว่ากินอร่อยเหมือนไก่ย่างทีเดียว (จริงๆ ผมก็ชอบทานนะ เคยอยู่ต่างจังหวัดมาก่อน แต่เลือกทานที่คนในหมู่บ้านไปจับมา ไม่กล้าซื้อตามตลาดเพราะไม่ไว้ใจว่าเป็นหนูนาหรือหนูบ้าน)

หนูนาย่างครับ น่าทานอยู่นะ

แหม่มคนหนึ่งชื่อ เกรย์ ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ๑๔ เดือนในกวางตุ้งหล่อนเล่าว่า ได้ไปกวางตุ้งเมื่อปี ค.ศ. 1877 (พ.ศ. 2420) หล่อนได้เห็นอาหารของพวกจีน มีทั้งเนื้อสุนัขและหนูย่าง ในหนังสือเกี่ยวกับจีนเรื่องหนึ่งกล่าวว่า พวกที่มีแนวโน้มว่ากินหนูเพราะหนูมีประโยชน์ก็คือพวกที่ไม่ค่อยมีผม ซึ่งเชื่อว่าการกินเนื้อหนูจะช่วยให้ผมดกได้ แต่การกินหนูย่างก็ดูไม่ค่อยแปลก เห็นคนจีนจับลูกหนูแดงๆ หย่อนเข้าไปในปากกลืนเข้าไปทั้งเป็นทีเดียว แล้วก็กรอกเหล้าโรงตามทีหลัง เขาว่าลูกหนูแดงๆ เป็นยาบำรุงกำลัง ในหนังสือเรื่อง ชีวิตชาวป่า ที่ฝรั่งแต่งเล่มหนึ่งเล่าว่า พวกชาวป่าในแหลมมลายูก็ชอบกินสัตว์แปลกๆ เช่น หนู งู ลิง และจระเข้ เชื่อว่าเป็นอาหารชั้นยอด แต่บางพวกก็เกลียดหนู ถือว่าหนูเป็นเสนียดจัญไรไปก็มี

เกลียดเค้าลงเหยอ

เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมผู้หญิงจึงเกลียดหนู? แต่พวกหนูที่มีสีขาวดูสะอาดน่ารัก เช่น หนูตะเภา หนูถีบจักร แฮมสเตอร์ กลับนำมาเลี้ยงทะนุถนอมอย่างดี เคยมีคนพยายามอธิบายว่า ที่ผู้หญิงเกลียดและกลัวหนูนั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยนุ่งกระโปรงยาว ซึ่งเขาว่าพวกหนูชอบหลบเข้าไปอยู่แถวชายกระโปรง แล้วบางทีก็ถือโอกาสไต่ขึ้นไปตามขา ด้วยคำอธิบายนี้เห็นจะใช้ไม่ได้ทั่วไป เพราะผู้หญิงชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้นุ่งกระโปรงยาวก็เกลียดหนูเหมือนกัน คงจะเป็นเหตุอื่นมากกว่านะ เช่น บางคนว่าหนูสกปรก บางคนว่าเกลียดหางของมัน บางคนว่าเกลียดหน้าตาของมัน สรุปแล้ว ยังไม่มีเหตุผลไหนดีพอที่จะอ้างอิงได้ว่า ทำไมผู้หญิงจึงเกลียดหนู
มีคนบางพวกนิยมในฟันของหนูว่าเป็นของดี อย่างพวกเยอรมันสมัยเก่าเขาว่า ถ้าฟันน้ำนมของเด็กหลุดหรือหัก เขาให้เอาฟันนั้นใส่เข้าไปในรูหนู จะป้องกันโรคปวดฟันได้ด้วย ถึงฟันผู้ใหญ่เขาก็มีวิธี เวลาฟันหักเขาให้โยนฟันข้ามหัวไปข้างหลัง พร้อมกับพูดว่า
 “หนูเอ๋ย เอาฟันเหล็กของเจ้ามาให้ข้า แล้วข้าจะให้ฟันกระดูกของข้าแก่เจ้า
เขาว่าทำอย่างนี้แล้วฟันจะดี ทางหมู่เกาะแปซิฟิกก็ถือกันแปลกๆ ถ้าฟันเด็กหักเขาจะพูดอ้อนวอนว่า
 “หนูใหญ่หนูเล็ก นี่เป็นฟันเก่าของฉัน ได้โปรดให้ฟันใหม่แก่ฉันด้วยเถิดพูดแล้วก็โยนฟันขึ้นไปบนหลังคาบ้าน เพราะพวกหนูชอบทำรังบนหลังคา การที่เขาเรียกฟันหนูว่าฟันเหล็กก็เพราะเขาเห็นว่าฟันของหนูเป็นฟันที่แข็งแรงที่สุด มันกัดกินของแข็งๆ ได้อย่างสบาย คนเราจึงอยากได้ฟันอย่างหนูมาใช้

เทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้ง 7 ของชาวญี่ปุ่น

ในภาษาญี่ปุ่นเรียกปีชวด หรือปีหนูว่า เน หรือ เนซูมิ ตามปฏิทินเก่าของญี่ปุ่นกล่าวว่า เป็นปีแห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นปีที่มีอาหารล้นเหลือ เพราะเชื่อกันว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของไดโกกุ ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่งในจำนวนเจ็ดองค์ ที่ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยเฉพาะเทพไดโกกุองค์นี้เป็นเทพแห่งทรัพย์สมบัติและรักษาครัว ตามรูปเขียนหรือภาพสลักนิยมทำเป็นรูปคนแก่ใจดียิ้มแป้นเท้าทั้งสองยืนเหยียบ ถังข้าวสองถัง มีถุงใบใหญ่พาดอยู่บนไหล่ซ้ายมือขวาถือตะลุมพุกพิเศษ และมีหนูอยู่บนถังข้าวนั้นตัวหนึ่ง สิ่งของต่างๆ นั้นมีความหมายนะครับ ถังข้าวนั้นหมายถึง อาหาร ถุงผ้าใบใหญ่ก็บรรจุทรัพย์สมบัติต่างๆ ไว้เต็ม ตะลุมพุกวิเศษเป็นเครื่องมือที่จะนำมาซึ่งสิ่งของต้องประสงค์ ส่วนหนูนั้นออกจะแปลกอยู่สักหน่อยที่หมายถึง ความมั่งคั่ง และญี่ปุ่นเขาก็มีคติว่า มีหนูเมื่อใดก็มีอาหารเมื่อนั้น

มีหนูเมื่อไร มีอาหารเมื่อนั้น...

ตามธรรมเนียมโบราณของญี่ปุ่นเชื่อกันว่า บ้านที่มีหนูจะปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่างๆ คือเชื่อกันว่าหนูสามารถรู้เหตุการณ์ เช่น น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ ถ้าบ้านที่หนูอาศัยอยู่จะถูกน้ำท่วมหรือไฟไหม้ หนูก็จะเงียบไปก่อนที่จะมีเหตุเกิดขึ้นทีเดียว ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงถือว่าหนูเป็นสัตว์ที่ประกันความปลอดภัยจากน้ำท่วม หรือไฟไหม้ได้เป็นอย่างดี
นอกจาก นี้ชาวญี่ปุ่นยังเชื่ออีกว่า ในเวลาที่ไหว้กามิดานะ หรือศาลเจ้าประจำบ้านนั้น ถ้ามีหนูมากินเครื่องเซ่นเหล่านั้น เขาก็จะพากันดีใจและรู้สึกเป็นสุข เพราะเขาคิดว่าการที่หนูมากินเครื่องเซ่นนั้นก็เท่ากับว่าเจ้าได้มาเสวยเครื่องเซ่นเหล่านั้น และเขาคิดว่าหนูเป็นตัวแทนของเจ้าเขาจึงไม่ทำร้ายหนู
สัตว์ที่คู่กับหนูก็คือ แมว เป็นศัตรูกันมาช้านาน ตามตำนานกล่าวว่าญี่ปุ่นมีหนูมาก เมื่อได้พระไตรปิฎกไปจากจีนก็ขอแมวไปอยู่ด้วย เพื่อให้แมวจับหนูที่จะมากัดพระไตรปิฎก ภายหลังเชื่อกันว่าเพียงแต่เขียนรูปแมวไว้หนูก็กลัว ตำรานี้คงเอาอย่างจีน คือในเมืองจีนหนูชอบมาทำลายตัวไหม จึงนิยมเขียนรูปแมวไว้ที่ผนังเป็นการขู่หนู ที่ศาลเจ้าโตโชกุมีรูปแมวหลับที่มีชื่อเสียง กล่าวกันว่าทำไว้ขู่หนูไม่ให้เข้าไปในศาล
ญี่ปุ่นมีนิยายที่เกี่ยวกับหนูด้วยนะครับ ตัวอย่างแบบสังเขปก็ประมาณนี้
ครั้งหนึ่ง มีชายชราที่ยากจนคนหนึ่ง แกมีข้าวอยู่ปั้นหนึ่งสำหรับกินวันนั้น แต่แกก็ยังอุตส่าห์แบ่งให้หนูกิน หนูรู้สึกขอบคุณชายชรามาก ต่อมาภายหลังหนูได้เชิญชายชราขึ้นไปบนสวรรค์และได้ให้เงินทองมากมาย
อีกเรื่องเล่าว่า ชาวนาชราคนหนึ่ง ได้นำแป้งต้มติดตัวไปทำงานด้วย เมื่อถึงเวลากินอาหารแกได้หย่อนแป้งต้มชิ้นหนึ่งลงไปในรูดิน ซึ่งรูนั้นมีหนูอยู่หลายตัวได้พากันกินแป้งต้ม และได้ออกมาเชิญชายชราให้ลงไปเที่ยวในรู มีการเลี้ยงอาหารกันอย่างใหญ่โต
ตามเรื่องทั้งสอง ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่าหนูร่ำรวยและอาจนำโชคมาสู่คน อันเป็นความคิดของชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณที่เกี่ยวกับหนู ซึ่งเชื่อกันว่าถ้ามีหนูอยู่ในบ้านตราบใดเขาก็จะมั่งคั่งอยู่ตราบนั้น และถ้าไม่มีหนูเมื่อใดก็แสดงว่าภัยพิบัติกำลังจะมา ดังนี้จะเห็นได้ว่าความเชื่อสมัยโบราณกับวิทยาการในปัจจุบันสวนทางกัน ในปัจจุบันนี้ถ้ามีหนูชุกชุมก็เป็นบ่อเกิดของโรคภัย
หวังว่าเกล็ดเล็กๆ เกี่ยวกับหนู สัญลักษณ์ของ ปีชวด นี้น่าจะพอทำให้เพลิดเพลินได้บ้างนะครับ คราวหน้าจะเล่าถึง วัว สัญลักษณ์ของ ปีฉลู กัน

เค้าสัญญาว่าจะทำตัวดีๆ

เนื้อหาจาก
banner125125 banner125125 ads_box ads_box ads_box