เกร็ด 12 นักษัตร (ปีฉลู)

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปีฉลูภาษาเขมรเขียน ฉลูว อ่านว่า โฉลว
ทางภาคเหนือของไทยเรียกว่า ปีเป้า หรือ เปิ้งงัว (งัวก็คือวัว)
ในกลุ่มประเทศที่ใช้ 12 นักษัตร จะใช้รูปวัวเป็นสัญลักษณ์แทนปีฉลูเหมือนกันหมดมีแปลกออกไปเฉพาะญวนที่ใช้ ควายแทนวัว     


คำ ว่า วัวเป็นภาษาไทยโบราณครับ มีหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเพื่อนจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายแต่คนเก่าๆ นิยมเรียกวัวว่า งัว(ปัจจุบันบางพื้นที่ยังใช้กันอยู่) ภายหลังจึงได้นำคำว่า โคในภาษามคธมาใช้เพิ่มขึ้นอีกคำหนึ่ง ตามหลักฐานที่กล่าวมานี้แสดงว่าในสมัยสุโขทัยมีการซื้อขายวัวกันเป็นธรรมดา และมีการจารึกบนฐานพระอิศวร
เมืองกำแพงเพชร ตอนหนึ่งว่า อนึ่ง แต่ก่อนยอมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะขายให้ดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขายเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่ให้ขายแก่ละว้าซึ่งน่าจะเป็นลูกค้าสำคัญ แต่มีข้อความอีกตอนหนึ่งว่าเจ้าพระญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนในเมืองกำแพงเพชรทำให้คิดว่าพวกละว้าอาจจะซื้อไปฆ่าก็เป็นได้ และพระอิศวรคงไม่โปรดจึงห้ามยังไงล่ะคุณ

พระศิวะ หรือคนไทยเรียก พระอิศวร

ในหนังสือนารายณ์สิบปาง ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ กล่าวว่า เดิมทีวัวเป็นสัตว์สวรรค์ พระอุมาใช้เทียมรถ คราวหนึ่งพระอิศวรชวนพระอุมาลงเที่ยวเมืองมนุษย์ โดยทรงพาหนะต่างๆ กัน พระอิศวรทรงพระคาวีอุศุภราช พระอุมาทรงรถเทียมด้วยโคสองตัว ชื่อ กะวิน และ นิลเมฆา พระขันธกุมารเป็นสารถีใช้เชือกผูกเขาโคคอยบังคับ พระนารายณ์ทรงครุฑนำเสด็จไปข้างหน้า ถัดมาก็เป็นพระมาตุลีขี่เสือ และพระไพสพ ทรงมหิงส์ คือ ควาย
ขณะที่เสด็จชมไร่นาอันอุดมสมบูรณ์ นั้น โคกะวินและนิลเมฆาซึ่งเทียมรถพระอุมา พารถทรงเข้าไปในไร่นา และกินพืชผัก พระมาตุลีและพระไพสพเห็นจึงขับเสือและควายเข้าขนาบข้าง วัวทั้งสองจึงได้เข้าทาง
เมื่อเดินทางมาถึงแม่น้ำโคธาวารีจึงหยุดพัก พระขันธกุมารจึงนำเรื่องเข้ากราบทูลให้พระอิศวรทราบว่าโคทั้งสองโลภอาหาร เข้าไปกินพืชผักในไร่นา ทำให้พืชในไร่นาเสียหาย พวกมนุษย์จะหาว่าเทวดาลงมาเที่ยวก็มาทำไร่นาเสียหาย
พระอิศวรเมื่อได้ฟังเช่นนั้น จึงให้แก้เอาโคทั้งสองออกจากแอก และมีเทวโองการว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปให้เจาะจมูกร้อยเชือกผูกเป็นตะพายเหมือนอย่างควาย และที่ตีไม่เจ็บเพราะหนังหนา ก็ให้เอาแขนงไม้สีสุกยาวสองศอกคืบมาทำเป็นด้าม เอาเหล็กฝังปลายไม้ให้แหลมยาวออกมาเท่าเมล็ดข้าวเปลือกสำหรับแทงโคที่ดื้อดึง และเมื่อจะใช้บรรทุกของและเทียมเกวียนผ่านเข้าไปในทุ่งนา ให้สานตะกร้อสวมปากผูกเชือกไว้กับต้นเขาทั้งสอง อย่าให้กินอะไรได้ เมื่อพระอิศวรตรัสสั่งเช่นนั้นแล้ว จึงมอบโคทั้งสองตัวให้แก่พระไพสพนำไปให้มนุษย์ใช้ทำนาต่อไป

รับกรรมกันไปพวกเรา

เรื่องนี้เป็นที่มาของวัวในมนุษย์โลกและต้องถูกเจาะจมูกร้อยเชือก มีของจีนอีกเรื่องหนึ่ง เง็กเซียนฮ่องเต้ เห็นว่ามนุษย์ต้องทำงานหนักและอดอยาก ห้าหรือหกวันจึงจะกินอาหารซักครั้ง ทรงคิดที่จะช่วยเหลือ จึงสั่งให้ดาววัวลงไปบอกมนุษย์ว่าให้ทำงานอย่างจริงจัง แล้วจะมีอาหารกินสามวันครั้ง ดาววัวรับคำสั่งแล้วก็รีบลงมาบอกมนุษย์ว่า ถ้ามนุษย์ขยันทำงานแล้ว เง็กเซียนฮ่องเต้จะให้มีอาหารกินสามมื้อทุกๆ วัน ครั้นดาววัวกลับขึ้นไปรายงานเง็กเซียนฮ่องเต้ก็กริ้วเพราะสื่อสารผิด ไปกลับคำเสีย ทำให้มนุษย์ต้องทำงานมากขึ้นจึงจะพอกิน จึงให้ดาววัวลงมาเป็นวัวรับใช้มนุษย์ เพื่อที่จะได้มีอาหารพอกินวันละสามเวลา จึงได้มีวัวสำหรับไถนาจนถึงปัจจุบันนี้ไงคุณ
นิทานแบบนี้มีอีกหลายเรื่อง อย่างของอินเดีย แรกเริ่มเดิมทีชาวบอนดอสไม่รู้จักการใช้วัวไถนา เวลาไถนาก็ใช้เชือกพาดไหล่ดึงผาลไถนา ทำให้เหนื่อยมากและต้องกินข้าววันละสองมื้อ มหาปรภูทรงปรานีไม่ต้องการให้เหนื่อยมากเกินไป ก็ส่งวัวไปบอกมนุษย์ให้กินข้าววันละสองมื้อก็พอจะได้ไม่ต้องทำงานมาก วัวรับบัญชาก็รีบวิ่งไป จนลืมคำสั่ง เมื่อไปพบกับมนุษย์ก็บอกว่ามหาปรภูสั่งให้กินข้าววันละสองครั้ง ทำให้มนุษย์พากันหัวเราะบอกว่า ก็กินวันละสองมื้อมาตั้งนานแล้ว ทำไมเพิ่งจะมาบอก เมื่อวัวกลับไปรายงาน มหาปรภูก็โกรธมาก สั่งให้วัวลงไปช่วยมนุษย์ไถนาเพื่อจะได้มีอาหารพอกิน ถ้าขี้เกียจก็จะถูกเฆี่ยนตี ตั้งแต่นั้นมาวัวก็มีหน้าที่ไถนา และถูกฆ่าเอาเนื้อมากินเป็นอาหาร

ปัจจุบันนี้ วัว คือ มหาเทพของคนชอบเนื้อแดง

เรื่องของวัวที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี วัวเป็นสัตว์ที่ปรากฏรูปร่างเป็นภาพเขียนมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์หรือยุคก่อนคริสต์ศักราช 15,000 ปี ถึง 10,000 ปี ที่แพร่หลายมากคือภาพเขียนของอียิปต์ แต่เรื่องราวและความเชื่อต่างๆ จะมีในอินเดียมากกว่า เพราะอินเดียถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Animals) เรื่องที่แพร่หลายเรื่องหนึ่งคือ เรื่องพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ แปลว่าโคผู้เจริญ
ตามเรื่องพระกฤษณะไม่ให้มิตรสหายบูชาพระอินทร์ ทำให้พระอินทร์โกรธ บันดาลให้น้ำท่วมวัวและคนเลี้ยงวัว พระกฤษณะก็เลยสำแดงเดช ยกภูเขาโควรรธนะขึ้นบังเป็นร่มให้วัวและผู้คนเข้าไปอาศัยหลบฝนพ้นจากอันตราย ภายหลังพระอินทร์เป็นมิตรกับพระกฤษณะ และเรียกพระกฤษณะว่า อุเปนทรา หมายถึงพระอินทร์ที่สอง

พระกฤษณะ

วัตถุโบราณที่มีผู้ค้นพบอีกอย่าง คือ เหรียญเงินที่มีรูปโคกามะเธนุ ว่ามีอายุเก่าถึงหนึ่งร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช โคกามะเธนุเป็นโคสารพัดนึกที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทรและรูปโคบนยอดเสาสมัยพระเจ้าอโศก แสดงว่าในอินเดียโบราณนับถือวัวมาก พวกฮินดูเลี้ยงวัวไว้เพื่อกินนมเท่านั้น เนื้อไม่กินและไม่ฆ่าวัว ถือเป็นบาปหนัก เพราะโคเป็นพาหนะของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสัตว์อันประเสริฐ ในอัฐมงคลที่พราหมณ์นำมาให้ไทยมีโคศุภราชอยู่ด้วย โคศุภราช หรือ อุศุภราช นี้มีนามว่า นนทิ เป็นเทวดา นับถือกันว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์สี่เท้าทั้งปวง มีวิมานอยู่ ณ เขาไกรลาส เวลาพระอิศวรจะไปไหน พระนนทิก็จะกลับร่างเป็นโคให้ทรง ด้วยเหตุนี้พวกฮินดูจึงบูชาพระนนทิที่มีรูปโค
ในหมู่บ้านมุสลิมมีพิธีฆ่าวัวเพื่อส่งไปให้เป็นพาหนะของคนตาย ว่ากันว่าวัวตัวที่ถูกฆ่านั้นจะได้เป็นพาหนะให้คนตายขี่ไปเฝ้าพระเจ้า ทางที่จะไปเฝ้าพระเจ้านั้นต้องผ่านทะเลทราย ฉะนั้นเวลาฆ่าวัวในพิธี เขาจึงต้องมีคนกางผ้าสีขาวให้วัว และมีคนถือกาน้ำ หมายความว่าผ้าที่กางนั้นจะเป็นร่มบังแดดในชาติหน้า น้ำก็จะได้เอาไว้กินกลางทาง
ในอินเดียโบราณมีพิธีเหมครรภ เป็นพิธีลอดวัวทอง คือเอาทองคำมาทำเป็นรูปวัว พระมเหสีจะลอดเข้าทางปากวัวไปออกทางก้นวัว ทำเช่นนี้แล้วจะล้างบาปและได้บุญ แสดงว่าวัวเป็นสัตว์ที่นับถือกันมาแต่โบราณ
ในคัมภีร์มฤคเวทหมวดอธิสัมภวะกล่าวไว้ว่า ชาวกัมโพชะ ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งได้ถือกำเนิดมาจากโค
พวกกรีกก็ว่ามีเทพเจ้าประจำป่าองค์หนึ่งมีชื่อว่า แสตอร์ มีเศียรเป็นโค
ในตอนต้นกล่าวไว้ว่าอียิปต์นับถือวัว เขาจึงทำรูปวัวตัวใหญ่สมมติว่าเป็นท้องฟ้า ตามตำนานของอียิปต์ว่าฟ้านั้น เป็นผู้หญิงเรียกว่า นุต และนุตนั้นเป็นนางโคคลอดลูกทุกวัน ลูกที่ออกมาคือ ดวงอาทิตย์ เช้าออกมาแล้วก็เดินหายไป รุ่งขึ้นก็ออกมาใหม่ วนเวียนไปมา

เทพโอสิริส

ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณของอียิปต์กล่าวว่า โคเป็นสัตว์ที่วิญญาณของโอสิริส (Osiris) เป็นเทวดาคุ้มครองแม่น้ำไนล์ และตัดสินบาปบุญของผู้ตายไปแล้วเข้าสิงอยู่ โคที่ต้องลักษณะคือตัวดำ มีจุดเป็นสามเหลี่ยมขาวที่หน้าเรียกว่า อาปิส เป็นสัตว์ที่ชาวอียิปต์นับถือกันสูงสุดทั่วประเทศ โคอาปิสมีโบสถ์เป็นที่อยู่อาศัย มีพวกศาสนาจารย์คอยปรนนิบัติอย่างดี ถ้าโคอาปิสตายลงพลเมืองต้องไว้ทุกข์จนกว่าจะหาใหม่ได้ พอหามาแทนได้ก็ต้องมีการทำพิธีและมีการรื่นเริงต่างๆ
ทางภาคใต้ของไทยมีกีฬาที่นิยมกันมานานมากถึงกับมีตำราดูลักษณะโคบรรยายถึงสีของวัว ลักษณะเขา ลักษณะขวัญ ตามปกติวัวมีหลายสี มีจุดมีด่างและมีลายที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีตำราดูสีของวัว และชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้
1. โคหงส์ วัวชื่อนี้มีสีตัวแดงสะอาด
2. โคเพชร ชนิดนี้มีสีตรงกันข้ามกับกับชื่อคือสีตัวดำนิล ดำเป็นเงา
วัวทั้งสองชนิดนี้ในตำราว่าเป็นวัวชั้นดี ไม่ให้โทษแก่เจ้าของ แต่ถ้าจะให้ดีเลิศก็ต้องชนิดสีแดงเพลิง และมีรอยด่างตั้งแต่โคนหางไปถึงตา เรียกว่า โคศุภราช ใครเลี้ยงไว้จะได้เป็นเศรษฐี ตามตำราบอกว่าต้องปลูกโรงยกพื้นสูง 1 ศอกให้เป็นที่อยู่ และจัดเครื่องไถคราดยาว 1 ศอก 1 คืบ เก็บไว้ในโรงนี้ด้วยจึงจะดี
ส่วนวัวที่มีลักษณะเลวนั้นมี 3 ชนิด คือ
1. กจะเพลิง เป็นวัวสีดำ แต่ว่าไม่เป็นมันเหมือนโคเพชร มีลิ้นแดงหรือตัวแดงแต่ลิ้นดำหรือตัวขาวลิ้นดำ ถ้ามีลักษณะอย่างนี้ถ้าเลี้ยงไว้จะเสียสง่าราศี จะพาทรัพย์สมบัติวอดวายไป
2. เปลวเพลิง เป็นวัวสีแดง แต่มีรอยด่างทั้งตัว ลักษณะนี้ ไม่ให้เลี้ยง จะทำให้เกิดโทษ
3. วัวที่มีลายดังลายเสือ และมีรอยด่างทั้งตัว ลักษณะเช่นนี้ไม่ดีมากกว่าวัวใดๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แม้แต่ขนก็ห้ามเอาเข้าไปในบ้าน
พอได้ทราบที่มาและเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของปี ฉลู บ้างแล้ว สังเกตว่าปัจจุบันที่ประเทศอินเดีย ก็ยังนับถือวัวอยู่ และปล่อยมันเดินเพ่นพ่านโดยทั่วไป ไม่แตะไม่ตีไม่ฆ่ามันเลย ลองหลงมาที่ไทยสักตัวสิ ฮึ่ม...ครั้งหน้าจะเป็นปีพี่เสือล่ะคุณ หรือ ปีขาล นั่นเอง

กินตูจังนะ

 เนื้อหาจาก


banner125125 banner125125 ads_box ads_box ads_box