เกร็ด 12 นักษัตร (มะโรง)

วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปีมะโรง “งูใหญ่” ของไทย คือ พญานาค หรือที่ไทยพายัพเรียกว่า ปีสี หรือ เปิ้งนาค ตรงกันปีนักษัตรของจีนคือ มังกร ในภาษาจีนหลวงเรียกว่า หล่ง กวางตุ้งเรียก หลุ่ง ฮกเกี้ยนเรียก เหล็ง แต้จิ้วเรียก เล้ง จีนแคะเรียก ลิอุ๋ง ญวนเรียก กองร่อง สันนิษฐานว่าคำว่ามะโรง น่าจะมาจาก หล่งหลุ่งเหล็งเล้ง ของจีน
พญานาค หรือ งูใหญ่ของไทย และ มังกรของจีน เป็นสัตว์ในตำนานที่มีฤทธิ์เหมือนๆ กัน พญานาคหรืองูใหญ่เป็นเจ้าแห่งงู อยู่ในบาดาล คือ ใต้พื้นดิน ตัวยาวอย่างงู มีหงอนงามมาก พญานาคกับมนุษย์มีเรื่องเกี่ยวข้องกันมานาน ตามพงศาวดารจะมีเรื่องพญานาคและลูกสาวพญานาค เช่น ในพงศาวดารกัมพูชาเล่าว่า
พระทอง เป็นราชบุตรองค์กลางของพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ผู้ครองกรุงอินทปรัตบุรี เมื่อมีพระชนมายุพอที่จะปกครองบ้านเมืองได้ พระราชบิดาก็ส่งออกไปปกครองเมืองทางทิศใต้พร้อมด้วยพระเชษฐาทั้งสองและอนุชาองค์รอง ซึ่งออกไปครองเมืองทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศเหนือ ส่วนอนุชาองค์สุดท้องนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่ พระราชบิดาจึงให้ประทับอยู่ในพระนครกับพระองค์ เมื่อครบสิบเดือน พระราชบุตรทั้งสี่นี้ก็จะต้องเข้าเฝ้าถวายบังคมพระราชบิดาครั้งหนึ่ง
ต่อมาพระราชบิดาประชวรหนักจะเสด็จออกให้พระราชบุตรและท้าวสามนตราชทั้งหลายเฝ้าถวายบังคมไม่ได้ จึงตรัสให้ราชบุตรองค์สุดท้องออกมารับแทนพระองค์ ณ ท้องพระโรงในมหาปราสาท และเพื่อให้คนทั้งปวงรู้ว่ามาแทนพระองค์ พระราชบุตรคนสุดท้องเสด็จประทับบนบัลลังก์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเศวตฉัตร การกระทำของพระอนุชาในครั้งนี้ ทำให้พระทองคิดต่อไปว่า พระราชบิดาคงยกพระอนุชาให้ครองพระนครหลวงเป็นใหญ่กว่าตน ซึ่งถึงพระองค์จะเป็นพี่ก็ต้องถวายบังคมอยู่ดี
เมื่อพระทองคิดแคลงใจจึงปรึกษากับมนตรีทั้งปวง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรเข้ายึดอำนาจ จึงยกทัพไปล้อมราชธานีของพระบิดา พระเจ้าอาทิตยวงศ์พิโรธโกรธกริ้ว พระราชบุตรองค์น้อยจึงกราบทูลรับอาสาไปเจรจากับพระทอง เมื่อพระทองทราบว่าพระราชบิดาไม่ได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระอนุชาเป็นแต่โปรดฯ ให้ออกมารับแทนเท่านั้นก็ตกพระทัย อ้อนวอนพระอนุชาให้เข้าไปกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่เข้าใจผิด แต่พระเจ้าอาทิตยวงศ์ไม่ยอมยกโทษให้ ตรัสสั่งให้ทหารออกไปจับพระทองและพวกพ้อง แล้วตัดผมที่เกล้ามวยออกทั้งไพร่นาย ขับไล่ออกจากเมือง
พระทองกับไพร่พลเดินทางไปจนถึงนครโคกหมัน เป็นดินแดนที่ใกล้กับพวกจาม พระทองจึงให้แยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอาศัย วันหนึ่งพระทองชวนมหาดเล็กทรงม้าลัดตัดหาดทรายไปประพาสที่เนินโคกหมัน ครั้นเวลาบ่ายน้ำทะเลก็ขึ้นมาจนท่วมหาดทราย เสด็จกลับไม่ได้ จึงประทับรออยู่ ณ ที่นั่นคืนหนึ่ง
ดึกคืนนั้นเอง นางทาวดีบุตรีของพญานาค ได้นำบริวารแปลงกายเป็นสาวสวรรค์ ขึ้นมาเล่นที่หาดทราย พระทองเห็นก็ชอบออกปากฝากรัก นางทาวดีก็ไม่ปฏิเสธ แต่ขอผัดไปอีก 7 วัน ขอให้พระทองจัดเครื่องราชบรรณาการมาคอยถวายพระบิดาที่บริเวณโคกหมันนั้น เมื่อให้คำมั่นสัญญาแล้ว นางทาวดีก็ลากลับนาคพิภพ เมื่อครบกำหนด 7 วัน พระทองก็จัดเครื่องราชบรรณาการและเสนาอำมาตย์ราชบริพารมาคอยที่เนินโคกหมัน
ฝ่ายนางทาวดีเมื่อกลับคืนไปถึงนาคพิภพแล้วก็เข้าเฝ้าพระบิดา พญานาคก็ยอมตามใจ เมื่อถึงเวลานัดหมายก็พาพระธิดาพร้อมด้วยวงศานุวงศ์ขึ้นมาสู่โคกหมันก็พบกับพระทอง พญานาคก็ยกนางทาวดีให้พระทอง แล้วพญานาคก็สำแดงฤทธิ์สูบน้ำในมหาสมุทรตรงนั้นให้แห้งเนรมิตพระนครให้เป็นของขวัญ ตั้งชื่อนครใหม่ว่า กรุงกัมพูชา.


นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่มาของคำว่า นาค ที่ใช้เรียกผู้กำลังเข้าสู่การอุปสมบทว่า
นาค เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวช ต่อมาขณะที่จำวัดอยู่หลับไป ร่างก็กลายเป็นนาคตามเดิม พระอุปัชฌาย์จับได้ให้สึก โดยถือว่าเป็นสัตว์เดียรัจฉานห้ามอุปสมบท นาคนั้นจึงขอฝากนามไว้ว่าหากมีผู้ใดมาบวช ก็ขอให้เรียกผู้นั้นว่า นาคตามนามของตน


ต่อมาคือเรื่อง ภูริทัตชาดก เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างนาคกับมนุษย์ ตอนภูริทัตเกิด ภูริทัตนี้เดิมชื่อ เจ้าทัตกุมาร เป็นโอรสของพญานาคธตรฐกับนางสมุทชาซึ่งเป็นมนุษย์ วันหนึ่งบิดาพาทัตกุมารขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ และเผอิญมีปริศนาเกิดขึ้นในหมู่ เทวดา ไม่มีใครแก้ปริศนานั้นได้ พระอินทร์จึงให้ทัตกุมารแก้ปริศนานั้น ทัตกุมารแก้ได้ พระอินทร์จึงให้ชื่อว่าเจ้าภูริทัต เพราะเหตุที่มีปัญญามาก (ภูริ แปลว่า ฉลาดหรือปัญญา)
การที่ ภูริทัต ได้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ได้เห็นสมบัติมากมายก็อยากได้แต่ไม่ได้ขโมยเพราะได้สติคิดว่าตนเป็นนาค ไม่สมควรกับสิ่งเหล่านี้ ควรกลับไปรักษาอุโบสถศีลเพื่อจะได้เป็นบุญกุศล ครั้นกลับลงมายังเมืองบาดาลแล้วก็สำรวมตนรักษาศีลอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่สงบเพราะมีพวกนาคคอยรับใช้ทำให้เสียสมาธิ จึงตัดสินใจออกจากเมืองบาดาลขึ้นมาจำศีลอยู่เมืองมนุษย์ พำนักอยู่ที่จอมปลวกใต้ต้นไทรใหญ่ใกล้แม่น้ำยมนาแต่ก็ยังให้ภรรยาเอาดอกไม้ไปบูชา และพวกคนขับฟ้อนไปบรรเลงดนตรีวันละสิบคน
เวลานั้นมีพรานสองคน พ่อลูก พ่อชื่อ เนสาท ลูกชื่อ โสมทัต ออกล่าสัตว์ ตกเย็นเห็นว่ากลับบ้านไม่ทัน ก็เลยนอนค้างในป่าใกล้ๆ ต้นไทรที่ภูริทัตจำศีลอยู่ พอถึงเวลาเที่ยงคืนเนสาทพรานตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงขับร้องดนตรีดังอยู่ใกล้ๆ จึงปลุกลูกชายให้ตื่นขึ้นมาฟัง แต่ลูกชายเหนื่อยมากไม่ยอมตื่น นายพรานจึงลงจากต้นไม้ย่องตามเสียงเข้าไปดู ในตอนนั้นภูริทัตได้กลายร่างเป็นมนุษย์แต่งกายด้วยเครื่องประดับอันเป็นทิพย์เหมือนเทวดา นายพรานสงสัยจึงถามว่าเป็นใคร เป็นเทวดาหรือยักษ์ ความจริงภูริทัตจะหลอกว่าเป็นพระอินทร์ นายพรานก็คงเชื่อ แต่เขาไม่ต้องการกล่าวความเท็จ จึงตอบไปตามจริงว่าเป็นพญานาค บอกชื่อเสียงบิดามารดาญาติวงศ์ให้โดยไม่ปิดบัง แต่คิดว่านายพรานคงต้องไปบอกให้หมองูมารบกวนได้ จึงหาทางปิดปากนายพราน ชวนพรานไปเที่ยวเมืองพญานาค พรานสองพ่อลูกยอมไป ภูริทัตมอบข้าวของและนาคสาวๆ ให้คนละเจ็ดร้อย สองพ่อลูกเพลิดเพลินอยู่ในบาดาล ภูริทัตขึ้นมาจำศีลได้อย่างปลอดภัย พอครบสิบห้าวันก็ลงไปครั้งหนึ่ง พรานพ่อคิดอยากจะกลับจึงบอกภูริทัตว่าตนแก่แล้วจะถือศีลกินเพล สมบัติต่างๆ ขอถวายคืน ภูริทัตพยายามเหนี่ยวไว้เอาแก้ววิเศษเข้าล่อ แต่นายพรานไม่ยอม ในที่สุดภูริทัตก็ให้นาคพาขึ้นไปส่ง พรานพ่อลูกคิดว่าควรอาบน้ำให้สบายใจก่อนจึงถอดเครื่องทิพย์ออกกองไว้แล้วลงไปอาบน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำเครื่องทิพย์ก็หายไป ผ้าเก่าที่เคยนุ่งกลับมาสวมให้แทน โสมทัตบ่นเสียดาย ทางฝ่ายภรรยานายพรานนั้น แรกดีใจที่ทั้งสองกลับมา เมื่อรู้เรื่องจากลูกก็โกรธ ด่าว่าว่าเอาแต่สบายทิ้งให้คนข้างหลังลำบาก แก้วแหวนเงินทองเขาให้มาก็ไม่เอา
วันหนึ่งสองพ่อลูกออกล่าสัตว์ ไปพบกับพราหมณ์อาลำพายน์ ซึ่งเดินภาวนามนต์ตามหาดทราย ในเวลาที่ภรรยาของภูริทัตมาเล่นน้ำอยู่แถวนั้น นางนาคได้ยินเสียงมนต์ก็ตกใจกลัวหนีไปทิ้งแก้วมณีไว้ พราหมณ์ก็เลยเก็บไว้ เมื่อสองพ่อลูกมาพบจำแก้วได้ พรานพ่ออยากได้ขอแลกกับทอง ตกลงกันว่าถ้าบอกที่อยู่แห่งพญานาคให้ก็จะได้แก้วมณีไป พรานพ่อตกลงแต่พรานลูกไม่เห็นด้วย พรานพ่อพาอาลำพายน์ไปยังที่อยู่ของภูริทัต ขณะนั้นภูริทัตอยู่ในสภาพของพญานาค อาลำพายน์เห็นภูริทัตมีลำตัวขาวราวสำลี มีหงอนสีแดงก็ชอบใจ โยนแก้วมณีให้นายพรานตามสัญญา แต่นายพรานรับไม่ทัน แก้วมณีจึงตกดินแล้วชำแรกแทรกลงไปในบาดาล ภูริทัตเห็นดังนั้นก็รู้ว่านายพรานทรยศ แต่โดยที่อธิษฐานสละเลือดเนื้อร่างกายเป็นทานแล้ว จึงระงับความโกรธไว้ได้ ปล่อยให้อาลำพายน์ฉุดหางลากไปแสดงให้คนดูตามคำสั่ง อาลำพายน์ได้เงินมากมาย แรกคิดว่าถ้าได้พันตำลึงจะปล่อยไปแต่เกิดความโลภ ไม่นานนักอาลำพายน์ก็กลายเป็นคนมีอำนาจ การแสดงเลื่องลือไปไกล ในที่สุดอาลำพายน์ก็เตรียมเข้าไปแสดงถวายพระเจ้าพาราณสี
นางสมุทชาแม่ของภูริทัตและเป็นน้องสาวของพระเจ้าพาราณสี เกิดฝันร้ายและเห็นภูริทัตหายไปไม่มาเฝ้าตามกำหนด บอกกับลูกชายคนโตว่า สงสัยภูริทัตจะเป็นอันตราย ถ้าไม่ได้พบภูริทัตนางก็คงอกแตกตาย สุทัศน์กับน้องอีกสามคนอาสาไปตาม โดยให้นางกานาริฏฐ์ไปดูทางสวรรค์ ให้สุโภคไปดูทางป่าหิมพานต์ ส่วนตนเองไปดูทางโลกมนุษย์ โดยมีนางอัจจะมุขีน้องสาวคนเล็กแปลงตัวเป็นเขียดไปด้วย สุทัศน์จำแลงเป็นดาบสไปสืบสวนยังที่เกิดเหตุ คือ จอมปลวกได้พบรอยเลือดก็สะกดรอยตามไปจนถึงเมืองพาราณสี ซึ่งอาลำพายน์กำลังจัดแสดงอยู่ สุทัศน์เข้าไปยืนอยู่ด้วย ขณะนั้นยังไม่ได้แสดง ภูริทัตถูกปล่อยตัวออกมาแล้วมองไปรอบๆ เห็นสุทัศน์พี่ชายก็จำได้เลื้อยมาซบที่เท้า ร้องไห้แล้วเลื้อยกลับไป อาลำพายน์เห็นเช่นนั้นนึกว่าภูริทัตไปขบกัดเท้าดาบสก็ถามว่าถูกขบกัดหรือเปล่า จะช่วยรักษา สุทัศน์ตอบว่าไม่ได้เป็นอะไร ถึงทำร้ายก็ไม่เป็นไรเพราะตนเป็นหมองูที่ยิ่งใหญ่ อาลำพายน์ได้ฟังก็โกรธ จึงท้าพนันกันโดยสุทัศน์จะเอาเขียดสู้กับนาค ถ้าใครแพ้จะต้องเสียห้าพัน ตอนวางเดิมพัน สุทัศน์ไม่มีเงินต้องไปขอยืมพระเจ้าพาราณสีและเชิญเสด็จออกมาทอดพระเนตร ความจริงก็ไม่ได้ต่อสู้อะไรเป็นเพียงแผนปราบอาลำพายน์ ดาบสสุทัศน์เรียกน้องสาวมาอยู่ในมือ แล้วคายพิษลงบนฝ่ามือสามครั้ง แล้วกลับไปที่เดิม ต่อจากนั้นสุทัศน์ก็ร้องด้วยเสียงอันดังสามครั้ง ดังไปไกล 12 โยชน์
ความจริงพิษที่นางอัจจะมุขี คายออกมานั้นพิษสงร้ายกาจนัก ถ้าเทพิษในฝ่ามือลงบนแผ่นดินแผ่นดินก็จะพังทลาย ถ้าเทลงในน้ำปลาก็จะตายกันหมด ถ้าโปรยขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้งไปเจ็ดปี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องหาวิธีที่ผ่อนคลายลง โดยให้ขุดหลุม 3 หลุม หลุมแรกสุทัศน์เอายาต่างๆ ใส่ให้เต็มหลุม หลุมที่สองให้ใส่ขี้วัว หลุมที่สามให้ใส่ยาทิพย์ แล้วก็เทพิษในฝ่ามือลงในหลุมแรก บังเกิดไฟเผายาต่างๆ หมดสิ้น แล้วเปลวไฟก็ปะทุในหลุมที่สอง แล้วไปบังเกิดในหลุมที่สามที่อาลำพายน์ยืนอยู่ใกล้ๆ ควันไฟที่ลอยมาไปถูกตัวอาลำพายน์ ทำให้ผิวหนังลอกกลายเป็นขี้เรื้อนขาวไปทั้งตัว อาลำพายน์ตกใจมากร้องบอกว่ายอมปล่อยพญานาคภูริทัตแล้ว ไม่สู้แล้ว
เมื่อทั้งสามเป็นอิสระก็กลับร่างเป็นมนุษย์รูปร่างงดงามเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี กราบทูลให้ทรงทราบว่าตนนั้นเป็นบุตรของนางสมุทชา หลังจากกำหนดวันพบญาติเรียบร้อยแล้ว สามพี่น้องก็ลากลับไปเมืองบาดาลตามเดิม

เนื้อหาจาก
banner125125 banner125125 ads_box ads_box ads_box