เกร็ด 12 นักษัตร (ปีเถาะ)

วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2554


ปีเถาะ ในหลายชนชาติออกเสียงใกล้เคียงกัน เช่น ญวน เรียกว่า ถอ คำว่าถอกับเถาะใกล้กันมาก ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียนว่า ถอ แต้จิ้วเรียกว่า โถ่ จีนแคะเรียก ทู ส่วนไทยพายัพเรียกว่า ปีเหม้า หรือ เปิ้งกระต่าย ตรงๆ เป็นต้น
คนไทยคุ้นกับกระต่ายมาแต่โบราณ จึงมีสำนวนเกี่ยวกับกระต่ายมาก บาทหลวง ปาลเลกัวซ์ ซึ่งมาอยู่เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้บันทึกไว้ว่า



กระต่าย ก็มีมากตามชายป่า แต่คนไทยเห็นว่าเป็นสัตว์ให้เนื้อที่เล็กมาก จนไม่มีใครฆ่ากัน เมื่อเราพูดถึงกระต่ายแล้ว คนไทยนั้นถือกระต่ายเป็นสัตว์เจ้าปัญญาและเจ้าเล่ห์มาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงสำนวนเกี่ยวกับกระต่ายไว้ท้ายพระราชนิพนธ์ เรื่องโรเมโอและจูเลียตว่า ในสมัยเชกสเปียร์ เขาเรียกหญิงนครโสเภณีว่ากระต่าย"
สังฆราช ปาลเลกัวซ์ว่าคนไทยเห็นจุดในดวงจันทร์เป็นกระต่ายนั้น เหมือนกับจีนโบราณว่า ในดวงจันทร์มีกระต่ายตัวผู้ และในโลกมีแต่กระต่ายตัวเมีย พวกกระต่ายตัวเมียชอบแหงนมองกระต่ายในดวงจันทร์จึงมีท้อง แล้วก็ตกลูกออกมาทางปาก!

ไทยใหญ่ว่า ดวงจันทร์คือกระต่ายที่คลุมด้วยเงิน จึงมีแสงเย็นนวลตา กระต่ายนี้อยู่ในเรือนแก้ว มีหน้าต่าง 15 บาน มันจะเปิดหน้าต่างแรกในคืนที่เราเรียกกันว่าขึ้นค่ำ และเปิดบานที่สองในคืนขึ้นสองค่ำ อย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนหมด 15 บาน เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง หลังจากนั้นกระต่ายก็จะปิดหน้าต่างคืนละบานทำให้มืดลงๆ ซึ่งเราเรียกกับว่าข้างแรม

ภาพเขียนกระต่ายจากปลายพู่กันจีน


 เคยเห็นภาพเขียนของจีนทำเป็น รูปกระต่ายยืนตำยาอยู่ในดวงจันทร์ เกิดจากลัทธิเต๋า เป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืน ญี่ปุ่นเห็นเป็นกระต่ายกำลังยืนตำโมจิ คือ ขนมข้าวในครกไม้ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น จีนเชื่อกันว่าในดวงจันทร์มีทั้งกระต่ายและคางคก แถมมีต้นไม้อีกต้นหนึ่ง (Cassia) ว่าเป็นต้นไม้ทิพย์ มีตาแป๊ะคนหนึ่ง มีหน้าที่คอยฟันต้นไม้นี้อยู่ แต่ฟันอย่างไรก็ไม่หมด เพราะมีกิ่งไม้ขึ้นมาแทนอยู่เสมอ ญี่ปุ่นก็มีต้นคัทสุระเป็นต้นไม้ยักษ์ มีคนคอยตัดเหมือนกันคนที่มีหน้าที่ตัดต้นไม้นี้บางทีจะเป็นนายวู่กังคนเดียวกับจีน ไทยนอกจากจะเห็นเป็นกระต่ายแล้ว บางทีก็เห็นเป็นตากับยายตำข้าว


หะหาย กระต่ายเต้น ปองจันทร์ มันบ่รู้ ตัวมัน ต่ำต้อย...


ในอินเดียเคยเชื่อกันว่าเงาในดวงจันทร์นั้นเป็นกระต่ายกำลังวิ่งอยู่ และบางพวกเชื่อว่าเงาที่เห็นนั้นเป็นเงาของต้นไทร ส่วนในนิทานชาดกมีเรื่องเล่าถึงเหตุที่มีรูปกระต่ายอยู่ในดวงจันทร์ มีเรื่องดังนี้ ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งอุดมไปด้วยหญ้า และไม้ดอกไม้ประผลนานาชนิด กระต่ายโพธิสัตว์ได้พำนักอยู่ ณ ที่นี้อย่างเป็นสุข ไม่มีศัตรูทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ เพราะกระต่ายบำเพ็ญตนดังมุนี กินแต่ใบหญ้าเป็นอาหาร มีวาจาเต็มไปด้วยไมตรีจิต สัตว์ที่เป็นพาลก็กลายเป็นมิตร แต่ที่สนิทกันมากก็มีนาก 1 วานร 1 และสุนัข 1 (ในนิบาตชาดกเป็นสุนัขจิ้งจอก) สัตว์ทั้งสี่ล้วนแต่มีความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย ปราศจากความโลภ รักษาศีล
ในเวลาเย็นวันหนึ่ง กระต่ายโพธิสัตว์ได้สนทนาธรรมกับสหายทั้งสามอยู่จนเวลาพระจันทร์ขึ้น กระต่ายสังเกตเห็นดวงจันทร์แหว่งอยู่ข้างหนึ่ง ก็รู้ว่าเป็นพระจันทร์วัน 14 ค่ำจึงกล่าวกับสหายว่า
ดูดวงจันทร์ซิ เกือบจะเต็มดวงแล้ว พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันที่สิบห้าค่ำ ที่พวกเราจะต้องรักษาอุโบสถศีลแล้ว
เมื่อสัตว์ทั้งสามรับรู้ กระต่ายก็รำพึงต่อไปว่า “ถ้ามีแขกมาเยี่ยม เราจะเอาอะไรเลี้ยงดู เพราะเรามีแต่ใบหญ้า ถ้าจำเป็นจริงๆ เราก็จะอุทิศร่างกายให้เป็นอาหารแก่อาคันตุกะ
ความคิดของกระต่ายทำให้พระอินทร์ร้อนพระทัยใคร่จะทดสอบว่ากระต่ายจะทำจริงหรือไม่ จึงจำแลงเป็นพราหมณ์เดินโอดครวญแสดงอาการหิวโหยมายังสถานที่ที่สัตว์ทั้ง 4 อาศัยอยู่ ร้องบอกว่า
ข้าแต่ท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย ข้าพเจ้าหลงทางมาไม่ได้กินอาหาร หิวเหลือเกิน โปรดให้อาหารแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
นาก สุนัข และลิงต่างก็นำอาหารต่างๆ มีปลา แย้ นมและผลไม้มาให้พราหมณ์ ส่วนกระต่ายไม่มีสิ่งใด จึงกล่าวขึ้นว่า
ข้าพเจ้าไม่มีอาหารอื่นใดจะเลี้ยงท่าน แต่ท่านจะย่างร่างของข้าพเจ้าเป็นอาหารได้
พระอินทร์ตระหนักถึงความตั้งใจของกระต่ายอยู่แล้ว จึงเนรมิตกองไฟขึ้น กระต่ายโพธิสัตว์แลเห็นกองไฟก็กระโดดเข้าไปตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ ขณะนั้นพราหมณ์ได้สำแดงเป็นพระอินทร์ตามเดิม ทรงช้อนพระหัตถ์อุ้มกระต่ายโพธิสัตว์ขึ้นมาจากกองไฟ และเพื่อประกาศศรัทธาอันแก่กล้าของกระต่ายที่ยอมย่างร่างกายเพื่อประโยชน์แก่อาคันตุกะ
พระอินทร์จึงประดับรูปกระต่ายไว้ที่เวชยันตมหาปราสาทของพระองค์แห่ง 1 ที่เทพสภาชื่อสุธรรมสภาอีกแห่ง 1 ทั้งให้มีรูปกระต่ายในดวงจันทร์
ในเรื่องสสบัณฑิตชาดกว่า พระอินทร์สกัดภูเขามาแท่งหนึ่ง แล้วเขียนรูปกระต่ายไว้ในมณฑลแห่งพระจันทร์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง คนทั้งหลายก็จะเห็นรูปกระต่ายในดวงจันทร์


เนื้อหาจาก


banner125125 banner125125 ads_box ads_box ads_box