เกร็ด 12 นักษัตร (ปีขาล)

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554


ปีขาลในภาษาเขมรเขียนว่า ขาล และอ่านว่า ขาล ตรงกับไทยครับ ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเสือเหมือนกัน เขมรเรียกว่า ขลา ภาษาภาคเหนือเรียกปีขาลว่า ปียี หรือ เปิ้งเสือ นางสงกรานต์ที่มีพาหนะเป็นเสือมีชื่อว่า นางโคราค (บางแห่งเรียกว่านางโคระ)
เมืองไทยเป็นเมืองเสือ โบราณปรากฏว่ามีเสือทำร้ายคนอยู่เสมอ บางครั้งก็มีเสือลักลอบเข้ามาลักไก่หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้าน เพราะในอดีตบ้านเมืองเป็นป่าอยู่โดยมาก
ในสมัยอยุธยาเคยจับเสือมาให้สู้กับช้าง บาทหลวง เดอ ชวาสี ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2228 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า
เราได้เห็นสิ่งแปลกๆ เป็นสุขใจสำราญตาทวียิ่งขึ้นทุกวัน เสือกับช้างต่อสู้กันก็ได้เห็น มีช้างอยู่ 3 ช้าง ส่วนเสือนั้นตัวเดียว คู่ปรปักษ์ที่จะเข้าประจัญบานกันมีจำนวนยิ่งหย่อนกว่ากัน ช้างทั้งสามติดหน้าร่าหุ์เหล็กกันงวงมันอาจม้วนงวงเข้าซ่อนไว้ภายในหน้า ร่าหุ์นั้นได้ ในขณะที่ต่อสู้กันนั้นช้างใช้งาแทง เสือกระโดดขึ้นไปเกาะติดอยู่ที่หน้าร่าหุ์แล้วก็กัดเอาบ่าช้าง ช้างได้รับความเจ็บปวดมาก ถึงกับส่งเสียงร้องแปร๋ ในที่สุดเสือจะอิดโรยบอบช้ำหรือแกล้งทำมารยาก็ได้จึงนอนนิ่งเหมือนตาย ช้างก็เดินตรงเข้าไปเอางวงจับเสือพลิกคว่ำพลิกหงายไปมาแต่เบาๆ แล้วก็เอางวงรวบจับเสือขึ้น...ฯลฯ


ประโยชน์ของเสือต่อคนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คืออะไรบ้างไม่ทราบเหมือนกันนะครับ อาจมีการนำเอามาเล่นละครสัตว์บ้าง เนื้อของเสือบางชนิดพระภิกษุฉันไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้าทรงห้ามฉันเนื้อ สัตว์ 10 ชนิด คือ เนื้อมนุษย์, เนื้อช้าง, เนื้อม้า, เนื้อสุนัข, เนื้องู, เนื้อราชสีห์ (สิงโต), เนื้อเสือโคร่ง, เนื้อเสือเหลือง, เนื้อหมี และเนื้อเสือดาว (ในมหาสุตโสมชาดกว่ากษัตริย์ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ทั้ง 10 ชนิดนี้) ที่ห้ามก็เพราะเหตุดังต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตเมืองพาราณสี มีอุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ของภิกษุ วันหนึ่ง สุปปิยได้ไปเยี่ยมภิกษุทั้งหลายว่ามีภิกษุรูปใดอาพาธหรือต้องการสิ่งใดก็จะนำมาถวาย มีภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า
อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำเนื้อต้ม
อุบาสิการับคำแล้วกลับมาให้คนรับใช้ไปหาซื้อเนื้อสัตว์ แต่เผอิญเป็นวันห้ามฆ่าสัตว์ จึงหาเนื้อสัตว์ไม่ได้ ทำให้นางสุปปิยามีความปริวิตกว่า ถ้าภิกษุอาพาธไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้มก็จะอาพาธมากขึ้นและอาจถึงขั้นมรณภาพ เมื่อรับปากแล้วก็ต้องทำเพื่อมิให้เสียคำพูด คิดดังนั้นแล้วนางก็เอามีดเชือดเนื้อขาส่งให้หญิงคนรับใช้เอาเนื้อไปต้มถวาย ต่อมาอุบาสกสุปปิยะทราบเรื่อง แทนที่จะโกรธกลับแสดงความชื่นชมยินดีว่าจะหาใครที่มีศรัทธาอย่างนี้ไม่ได้อีกแล้ว จึงคิดทำบุญถวายภัตตาหาร ได้ไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ฉันภัตตาหารที่บ้าน พระพุทธเจ้าก็รับนิมนต์เมื่อไปถึงบ้านสุปปิยะก็ถามถึงนางสุปปิยาว่าไปไหน สุปปิยะก็ทูลว่านางป่วยอยู่ พระพุทธเจ้าก็ให้ไปพานางออกมา พอนางสุปปิยาได้เห็นพระพุทธเจ้า แผลตรงที่นางเชือดเนื้อออกก็หายสนิทมีเนื้องอกออกมาเต็มเหมือนเดิม
เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากฉันภัตตาหารถึงที่ประทับ ได้มีรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์สอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วทรงรับสั่งว่า
 “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉันต้องอาบัติถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณาไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉันต้องอาบัติทุกกฎฯ
ส่วน ที่ห้ามฉันเนื้อช้าง ก็เนื่องมาจากสมัยหนึ่งช้างหลวงล้มลงหลายเชือก ประชาชนขาดแคลนอาหาร จึงพากันบริโภคเนื้อช้าง แล้วยังนำถวายแก่ภิกษุที่มาบิณฑบาตอีก ภิกษุฉันเนื้อช้าง ประชาชนพากันติเตียนภิกษุที่ฉันเนื้อช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบคงไม่ทรงเลื่อมใสแน่ เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงทรงบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง และที่ทรงห้ามฉันเนื้อม้าก็มาจากเหตุเดียวกัน คือม้าหลวงตายมาก ประชาชนก็พากันบริโภคเนื้อม้าและเอามาถวายภิกษุ คนก็ติเตียนแบบเดียวกันกับภิกษุฉันเนื้อช้าง
 เหตุที่ห้ามภิกษุฉันเนื้อสุนัข เนื้องูก็มาจากการอัตคัดอาหาร ประชาชนก็บริโภคเนื้อสุนัข เนื้องู และถวายแด่ภิกษุ แล้วคนทั้งหลายก็พากันตำหนิว่าภิกษุฉันเนื้อสุนัข เนื้องู ซึ่งเป็นสัตว์น่าเกลียด พระพุทธเจ้าทราบก็ทรงบัญญัติห้าม
ส่วนพระพุทธบัญญัติที่ทรงห้ามภิกษุฉันเนื้อราชสีห์, เสือโคร่ง, เสือเหลือง, หมี, และเสือดาวนั้น เนื่องมาจากพวกพรานที่ฆ่าสัตว์ ฆ่าแล้วก็เอามาบริโภคและถวายแด่ภิกษุที่มาบิณฑบาต ภิกษุที่ฉันเนื้อราชสีห์, เนื้อเสือโคร่ง, เนื้อเสือเหลือง, เนื้อหมี, และเนื้อเสือดาวต่างก็อยู่ในป่า จึงถูกสัตว์ต่างๆ ได้กลิ่นเนื้อของพวกตนจากภิกษุ ฆ่าพวกภิกษุเหล่านั้นเสีย พระพุทธเจ้าทรงเห็นภัยที่จะเกิดกับภิกษุจึงทรงบัญญัติห้ามการฉันเนื้อสัตว์ เหล่านั้น



ตามคติของจีน เสือเป็นเจ้าป่าแห่งสัตว์ทั้งปวง และว่ามีอายุถึงพันปี เมื่ออายุได้ห้าร้อยปี สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีขาว นอกจากนี้ ขี้เถ้าและกระดูก ตลอดจนส่วนต่างๆ ของเสือใช้เป็นยารักษาโรคได้โดยเฉพาะหนวดใช้รักษาอาการปวดฟันได้เป็นอย่างดี ในเมืองไทยผู้ที่เป็นโรคคางทูมนิยมเขียนตัวหนังสือ โฮ้ว คือเสือที่แก้มว่าเป็นยันต์รักษาโรคคางทูมได้ ในเมืองจีนสมัยโบราณนิยมเขียนรูปหัวเสือที่โล่ พวกนายทหารก็จะมีรูปหัวเสือที่เสื้อ และที่ในพงศาวดารจีนบรรยายถึงทหารเอกตวาดเสียงอันดังปานฟ้าผ่านั้น ก็เลียนแบบการร้องของเสือเพื่อให้ข้าศึกตกใจกลัวนั่นเอง
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ.2531) ที่ประเทศเกาหลี ได้ทราบว่าประเทศเจ้าภาพจะใช้รูปเสือเป็นเครื่องหมายเพราะตามความเชื่อของ เกาหลี ถือว่าเสือเป็นสัตว์ที่จะนำโชคดีมาให้ เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ความเชื่อและวัฒนธรรมของเกาหลีมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า
ฮวานิน (Hwanin) โอรสแห่งสวรรค์ได้ถูกส่งลงมายังมนุษย์โลกเพื่อให้เกิดพืชพันธุ์มนุษย์ แต่โอรสลงมาแล้วหาคู่ครองไม่ได้
ในครั้งนั้นหมีสาวกับเสือหนุ่มได้รับเทวโองการให้จำศีลภาวนาเพื่อให้ร่างกายกลับกลายเป็นมนุษย์ แต่การบำเพ็ญตบะเป็นเรื่องยากลำบาก เสือทนไม่ไหวไม่สามารถบำเพ็ญตบะต่อไปได้ก็เลยไม่ได้เป็นมนุษย์ ส่วนหมีสาวบำเพ็ญตบะต่อไป จนในที่สุดร่างก็กลับกลายเป็นมนุษย์และได้แต่งงานกับฮวานิน มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ ตันกุน ผู้สถาปนาเกาหลีโบราณ ส่วนเสือไม่สามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ได้ก็ยังคงใกล้ชิดกับชาวเกาหลีตลอดมา
ชาวเกาหลีนับถือเสือว่าเป็นเจ้าภูเขา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกครองภูเขาทั่วไป จึงได้สร้างศาลและรูปประดิษฐานไว้เพื่อให้ผู้คนกราบไหว้วิงวอนขอให้การเดินทางผ่านภูเขามีความปลอดภัย เชื่อกันว่าเสือจะไม่ทำร้ายคนดีมีศีลธรรม และกลับจะคอยช่วยเหลือ มีเรื่องเล่าว่า
นายกเทศมนตรีของเมืองซีอูล คนหนึ่งชื่อ ปาก ซาง ซอน ซึ่งเป็นคนสมัยกลางของราชวงศ์ยี นายกคนนี้เป็นคนที่ซื่อสัตย์กตัญญูต่อบรรพบุรุษมาก ทุกๆ วันตอนรุ่งอรุณเขาจะต้องไปแสดงความเคารพที่หลุมศพบิดาเป็นประจำ
 วันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังจะข้ามเขาไปเคารพศพบิดา ก็มีเสือตัวใหญ่ตัวหนึ่งโผล่ออกมาจากเงามืดแล้วร้องคำรามขึ้นทำให้เขาหลับตา ด้วยความตกใจ และนึกว่าคราวนี้คงตายแน่ แต่เสือก็ไม่ได้ทำร้ายเขา เพียงแต่เหวี่ยงเขาขึ้นไปบนหลังพาวิ่งไปที่หลุมศพบิดาแล้วก็วางลง เมื่อเขาทำความเคารพบิดาเรียบร้อยแล้ว เสือก็มาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งและพากลับมาส่งที่เดิม เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันเมื่อเขาแก่และตายศพของเขาได้ถูกนำไปฝังไว้ที่ภูเขาหลังหมู่บ้าน ซึ่งต่อมาได้เรียกหมู่บ้านนั้นว่า หมู่บ้านลูกกตัญญู



การที่เสือช่วยเหลือพานายกเทศมนตรีไปเคารพศพบิดาทุกวันนั้น แสดงว่าเสือสนับสนุนคนดี ไม่ทำร้ายคนดีมีศีลธรรม เสือเป็นสัตว์ที่มีคุณธรรมมากกว่ามนุษย์เสียอีก เกาหลียังมีเรื่องเล่าอีกว่า หมอ ยาง เย สุ คนสมัยราชวงศ์ยี่ ได้เดินทางไปเมืองจีนพร้อมกับคณะหลายคน เมื่อทั้งหมดได้ข้ามแม่น้ำยาลูไปแล้ว ก็หยุดพักหลับนอนกลางแจ้ง ตอนเที่ยงคืนปรากฏว่าหมอยางได้หายตัวไป บรรดาพรรคพวกตกใจกันมากช่วยกันค้นหา แต่แล้วแม่เสือตัวหนึ่งก็แบกหมอมาส่งแล้ววิ่งหายลับไป หมอเล่าว่า แม่เสือได้มาปรากฏกายตรงหน้าแล้วพาหมอขึ้นไปบนเขา ต่อจากนั้นแม่เสือได้ไปพาลูกๆ มาหลายตัว ต่างโค้งคำนับอย่างนอบน้อม หมอยางเข้าใจกิริยาอาการก็ช่วยตรวจดูลูกสัตว์เหล่านั้นก็พบว่าตัวหนึ่งกำลัง จะตายเพราะขาหัก จึงได้จัดการเอายาในกระเป๋าใส่ให้แล้วเข้าเฝือก แม่เสือเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดและคำนับอย่างนอบน้อมหลายครั้ง แล้วผลักหินสีดำให้หมอยางก้อนหนึ่ง เมื่อหมอยางหยิบก้อนหินขึ้นมา แม่เสือก็ให้หมอยางขี่หลังพากลับมาส่ง
เมื่อหมอยางไปถึงเมืองจีนก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทางแร่ธาตุตรวจดู ปรากฏว่าหินก้อนนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อใส่ลงไปในน้ำจะทำให้นำนั้นกลายเป็นสุราทันที แสดงให้เห็นคุณธรรมของเสือที่รู้จักสนองคุณแก่ผู้มีพระคุณ



ตำนานของเจดีย์โบราณที่เรียกว่า ออนวิ คือ เจดีย์พี่ชายและเจดีย์น้องสาว มีภิกษุรูปหนึ่งบำเพ็ญตบะอยู่ในป่าลึก คืนหนึ่ง มีเสือมาอยู่ตรงหน้าแสดงอาการว่ามีอะไรตำอยู่ในคอ เพื่อจะขอให้พระช่วยเอาของออก พระเข้าใจเจตนาของเสือก็เอามือล้วงเข้าไปในปากดึงโลหะชิ้นหนึ่งที่ตำคอออกมา ปรากฏว่าเป็นปิ่นปักผมของผู้หญิง แสดงว่าเสือคงจะกินผู้หญิงเข้าไป และขณะที่กินปิ่นก็ตำคอ
เมื่อปิ่นออกจากคอเสือแล้ว เสือก็จากไปและเมื่อกลับมาอีกครั้งหนึ่งก็ได้พาเจ้าสาวที่แต่งหน้าอย่างสวยงามมาบนหลังของมันด้วย การที่มันพาเจ้าสาวมานี้ก็เพื่อตอบแทนความดีของหลวงพี่ที่ช่วยเหลือนั่นเอง หลวงพี่จำต้องรับเจ้าสาวไว้ในบ้านด้วยกัน แต่ก็ยังมั่นคงอยู่ในเพศสมณะ ทั้งสองมรณะด้วยความบริสุทธิ์ สะอาด เจ้าสาวก็เป็นชีที่บริสุทธิ์ ประชาชนเลื่อมใสจึงได้สร้างเจดีย์ให้พระและชีมีชื่อเรียกว่าออนวิ
ส่วนต่างๆ ของเสือใช้ทำยาได้ ตามความเชื่อของไทยนิยมเอาหนังสือโดยเฉพาะหนังหน้าผากเสือมาทำเป็นตะกรุด เอาเขี้ยวเสือกลวงมาแกะเป็นตัวเสือปลุกเสกเป็นเครื่องราง ส่วนเรื่องความเชื่อหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับเสือในประเทศไทย มักไปในทางไสยศาสตร์ หรือเรื่องน่ากลัวซะมากกว่า...

เนื้อหาจาก


banner125125 banner125125 ads_box ads_box ads_box